******************************

ประกาศ!!!!!! ย้ายบ้านใหม่แล้วนะครับ
ขอเชิญไปเยี่ยมชมได้ที่

Tuesday, January 5, 2010

เยี่ยมชมโรงงาน คามาค่า Kamaka Factory

คามาค่า เป็นบริษัทผู้ผลิตอูคูเลเล่ที่มีชื่อเสียงไม่เฉพาะแต่ในฮาวาย แต่ได้รับการยอมรับในระดับโลก สัญลักษณ์ตัวเค สองตัว (double K) เป็นที่ติดตาและจดจำง่าย

ว่ากันว่าถ้าลองได้เล่นคามาค่าแล้ว จะไม่เปลี่ยนใจไปเล่นยี่ห้ออื่นอีกเลย จริงหรือไม่คงต้องพิสูจน์กันเอง

คามาค่าเป็นบริษัทเดียวที่สามารถฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอยู่รอดมาจนบริษัทจะอายุครบ 100 ขวบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกวันนี้ยังคงบริหารงานในรูปแบบของบริษัทครอบครัว เป็นยุครุ่นหลาน และรุ่นเหลนที่ดูแลบริษัท

พนักงานมีไม่มากไม่มาย ประมาณ 40 คน กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะคำพูดของ แซม คามาค่า ผู้ก่อตั้งบริษัทได้ให้คติกับลูกหลานว่า

เราเอานามสกุลมาตั้งเป็นชื่อของบริษัท ก็จงอย่าผลิตขยะออกมาขาย (We use our family name. Don't make junk.)

วันนี้ขอพาเยี่ยมชมโรงงานคามาค่าครับ

คุณนาย เมษา เก๊กท่าอะโน่เนะ อยู่ด้านหน้าบริษัท โลโก้โดดเด่นเป็นสง่า ดูภายนอกเล็ก ๆ แต่ข้างในใหญ่ใช้ได้เลยทีเดียว



ผลักประตูหน้าเข้าไปก็จะพบกับเคาเตอร์ที่โชว์คามาค่าทุกรุ่น ทุกแบบ ที่จำหน่ายในปัจจุบัน
ไล่จากซ้ายไปขวา

คอนเสิร์ต ดีลักซ์ ระฆัง รุ่น ออต้า ซาน
โซพราโน ดีลักซ์
โซพราโน สับปะรด
โซพราโน มาตรฐาน
คอนเสิร์ต
เทนเนอร์
เทนเนอร์  6 สาย
เทนเนอร์ 8 สาย
พี่ใหญ่ บาริโทน



รูปถ่ายตรงตู้กระจก ซ้ายมือคือ แซม จูเนียร์ (คนถืออูคูเลเล่) ขวามือ คือเฟรด สองพี่น้องผู้สืบทอดตำนานจากคุณพ่อผู้ก่อตั้ง แซม คามาค่า

ในมือของแซม จูเนียร์ คือคามาค่า ที่ทำพิเศษมอบให้กับ บารัค โอบาม่า ประธานาธิบดี สหรัฐ สังเกตเฟรทสุดท้ายมีฝังมุกชื่อ โอบาม่า



อูคูเลเล่ รุ่นตำนาน ไม่ขาย มีไว้โชว์อย่างเดียว ตัวนี้ยี่ห้อ ลีโอนาโด นูน ซึ่งเป็นยี่ห้อของผู้ที่ริเริ่มทำอูคูเลเล่เป็นเจ้าแรก (คนโปรตุเกส)



สัญลักษณ์จะคลาสสิกมาก คาดว่าตัวนี้อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี งานเนี๊ยบสุด ๆ



น้องสับปะรด หมายเลขหนึ่ง เป็นสับปะรดตัวแรกของโลก ลายที่เห็นเพ้นท์ด้วยมือ ตัวนี้เป็นตัวต้นแบบ ปัจจุบันรุ่นนี้หายากมากในท้องตลาด ว่ากันว่าเพราะรุ่นนี้นี่เอง ที่ทำให้คามาค่าอยู่รอดได้ในช่วงพิษเศรษฐกิจสงครามโลก



รุ่นแรก ๆ ยังไม่ใช้สัญลักษณ์ดับเบิ้ล เค ยังคงใช้ตราสีฟ้า สัญลักษณ์ฮาวาย



คุณปู่เฟรดในวัยชรา ยังคงมาทำงานที่บริษัททุกวัน ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์พาชมบริษัท



และนี่คือสิทธิบัตรของน้องสับปะรดที่คามาค่าได้จดไว้ ยี่ห้ออื่นมาเริ่มทำเลียนแบบก็เมื่อสิทธิบัตรได้หมดอายุลง



ดูกันชัด ๆ อีกที งานเพ้นท์สุดคลาสสิค มีรอยแตก รอยปริ แต่เสียงกลับดีอย่างไม่น่าเชื่อ



ไม้โคอา ไม้ที่คามาค่าใช้ในการทำอูคูเลเล่ ไม้หายาก ราคาสูงเมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น มีเฉพาะที่ฮาวายเท่านั้นเพราะมักจะขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน ลายไม้งดงามจริง ๆ



รูปในอดีต เด็กตัวเล็กคนนั้น คือคุณปู่เฟรดคนนี้ ในอดีตคุณปู่เล่าว่า มีคนเข้ามาซื้อคามาค่า คุณพ่อหรือแซม คามาค่า แทนที่จะถามลูกค้าว่า
How may I help you? (มีอะไรให้ช่วยมั้ย หรือมีอะไรสงสัย)
แต่สามารถถามลูกค้าได้เลยว่า
How many do you want? (จะเอากี่ตัว)
เพราะทำออกมากี่ตัวก็ขายหมด ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ จะเอากี่ตัวว่ามาเลย



ส่วนด้านหลังของบริษัท เป็นส่วนโรงงาน และที่เห็นคือบริเวณที่เก็บไม้ ต้องเก็บไว้อย่างต่ำ 7 ปีจึงจะนำมาผลิตได้ ไม้จะแห้งและคงทน ตัดไม้วันนี้ รออีก 7 ปีค่อยเอามาใช้



ไม้จะถูกตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ



ผ่านขบวนการตัดด้วยเลเซอร์ ออกมาเป็นอย่างที่เห็น คอไม่มีรอยต่อเป็นไม้ท่อนเดียว



ฝังมุกโลโก้ ดับเบิลเค ที่เปลี่ยนมาใช้ดับเบิ้ลเค เพราะสองพี่น้องคามาค่า สองคน (แซม จูเนียร์ และเฟรด) ร่วมกันสืบทอดกิจการจากคุณพ่อ สองคนพี่น้อง เลยใช้ตัวเคสองตัว



ไม้จะถูกนำมาแบ่งครึ่งแล้วแยกออกเป็นซ้ายขวาให้สมมาตร หรือที่เรียกว่า บุ๊คแม๊ต (bookmatch) เหมือนเราเปิดหนังสือหน้ากลาง



เครื่องตัดไม้ที่ปู่เฟรดโม้ให้ฟังว่ามีเพียงเครื่องเดียว ในเกาะฮาวาย



พนักงานประจำตามจุดต่าง ๆ ในโรงงาน คามาค่าเคยจ้างคนงานที่เป็นผู้พิการ หรือคนหูหนวก ซึ่งคนหูหนวกนั้นกลับทำงานดีกว่าคนหูดี เพราะใช้มือสัมผัสไม้และสังเกตความสั่นสะเทือน แทนการฟัง แล้วปรับแต่งจนทำให้ได้อูคูเลเล่เสียงดี



มาถึงส่วนที่เป็นการประกอบ ไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลัง จะถูกนำมาประกบกันตรงนี้



ไม้ด้านข้าง นำมาชุบน้ำยาทำให้นุ่ม เพื่อที่จะได้ดัดงอให้โค้งเป็นเลขแปด



บล็อคไม้ที่ถูกทำเตรียมไว้ จับไม้ใส่บล็อคแล้วก็หนีบให้เข้ารูป



ใส่ไม้กระดูกงูรอบ ๆ ตัวเพิ่มความทนทานแข็งแรงในส่วนที่เป็นรอยต่อ



หมายเลขประจำตัว และวันเดือนปีเกิด จะถูกระบุในขั้นตอนนี้ แต่ละตัวจะใช้เวลาในการทำประมาณสองสัปดาห์



หนีบกันสุด ๆ ไปเลย



แผ่นไม้ด้านหลังจะถูกกดทับด้วยบล็อคไม้พิเศษ ซึ่งจะทำให้แผ่นหลังโค้งงอเป็นรูปหลังเต่า แทนที่จะแบนราบเรียบ น่าจะเป็นเคล็ดลับที่ทำให้คามาค่าเสียงกังวาน หวาน ใส



ออกมาได้หน้าตาประมาณนี้ ลายไม้สวยดีทีเดียว



เอาเทปปิดทับส่วนที่เป็นเฟรดบอร์ด ก่อนที่จะนำไปพ่นแลคเกอร์ พ่นทับหลายชั้นมาก พ่นแล้วขัด อยู่หลายรอบเพื่อความเนี๊ยบและความคงทน



เดินขึ้นชั้นสอง เป็นจุดที่คามาค่าทุกตัวจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบครั้งสุดท้าย คามาค่าทุกตัวจะต้องผ่านการเล่นโดยคนนามสกุลคามาค่า (รุ่นลูกของคุณปู่เฟรด) ก่อนที่จะปล่อยผ่านออกจากโรงงาน



ตัวที่เห็นนี้ ราคา 5000 เหรียญ รุ่นเจค ชิมาบูคูโร่ ลิมิเต็ด เอดิชั่น มีหนึ่งร้อยตัวบนโลกใบนี้ ไม้เกรด AAAAA(เอ ห้าตัว) ฝังมุกรอบตัว



เคซี คามาค่า มาสเตอร์ลูเธียร์กำลังง่วนกับการทำงาน เขาผู้นี้แหละคือคนสร้างอูคูเลเล่ที่ปัจจุบันนี้ เจค ชิมาบูคูโร่ ถืออยู่ในมือ



มาเห็นขั้นตอนการผลิตแล้ว บอกได้คำเดียวว่า สุดยอดจริง ๆ ที่เคยรู้สึกว่าคามาค่า ทำไมแพงจัง ตอนนี้กลับรู้สึกว่าคุ้มราคา ของคุณภาพราคาย่อมตามคุณภาพ อยู่มาจนจะครบร้อยปี ต้องมีดีแน่นอน

จบข่าวครับผม

2 comments:

Platong said...

ชอบมากครับ ขออนุญาตบล็อกต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ http://www.plajazz.com/2010/01/ukulele/ มีเพื่อนชอบเล่นหลายคนครบั คุณขนุนและพี่ด่อง จาก ribbee.com ครับ

tigerake said...

แวะมาอ่านเก็บความรู้ครับพี่