******************************

ประกาศ!!!!!! ย้ายบ้านใหม่แล้วนะครับ
ขอเชิญไปเยี่ยมชมได้ที่

Thursday, January 28, 2010

สี่ข้อสำคัญในการเลือกซื้ออูคูเลเล่มือสอง

สี่ข้อสำคัญในการเลือกซื้ออูคูเลเล่มือสอง อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่ละท่านอาจจะมีความเห็นแตกต่างกันไป

ข้อแรก เรื่องเสียง เสียงต้องดีก่อนครับ ผมซื้อมาเล่น ไม่ได้ซื้อมาตั้งโชว์ไว้เฉย ๆ เรื่องเสียงเลยมีความสำคัญ เวลาดีด เวลาสตรัม จะรู้ได้ทันทีครับว่าเสียงดีไม่ดี ต้องอาศัยประสบการณ์ ยิ่งผ่านมือมาหลายตัว จะรู้ได้เอง เหมือนเรากินก๋วยเตี๋ยวมาหลายเจ้า เจ้าไหนอร่อยไม่อร่อย เราก็จะรู้ทันที

แล้วคำว่าเสียงที่ดีนั้น มันเป็นยังไง เสียงที่ดีในความคิดผม คือเสียงที่ออกมาแล้วได้สมดุล ไม่แหลม ไม่ทุ้มจนเกินไป ทั้งสี่สายเวลาสั่นแล้วเหมือนเป็นเพื่อนกันไม่มีใครแซงหน้าใคร ออกมากลมกล่อม บางทีฝรั่งใช้คำว่า round คือออกมากลม ๆ ฟังแล้วรื่น ๆ ไม่ขัดหู

เสียงดัง กับเสียงดี สองเสียงนี้ไม่เหมือนกันนะครับ เสียงดังคือดังเหมือนคนตะโกนเสียง เสียงดีเหมือนนักร้อง เวลาร้องไม่ต้องเกร็งคอจนปูด แต่ฟังแล้วไพเราะเสนาะหู

ปัจจัยที่มีผลต่อเสียงของอูคูเลเล่มีเยอะมาก ไม่มีอูคูเลเล่สองตัวที่เสียงเหมือนกัน เหมือนลายนิ้วมือคนเราครับ ไม้แต่ละชิ้นก็มีลายไม้แตกต่างกัน คุณสมบัติในการสะท้อนเสียงก็ต่างกัน ความหนาของไม้ที่ใช้ทำ รูปทรงของอูคูเลเล่ โครงสร้างภายใน ล้วนมีผลต่อเสียง เปลี่ยนสาย เสียงก็เปลี่ยน เปลี่ยนคนเล่น เสียงก็เปลี่ยน เล่นในอากาศหนาว ได้อีกเสียง เล่นในวันร้อน ได้ออกมาอีกเสียง

ข้อสอง รูปร่างหน้าตา ข้อนี้อาจจะสำคัญเป็นอันดับหนึ่งสำหรับบางท่าน แต่สำหรับนักดนตรีแล้ว รูปร่างหน้าตาไม่สำคัญไปกว่าเสียงแน่นอน แต่ถ้าหาที่เสียงดีและรูปร่างหน้าตาดีด้วย เจ๋งเลย ถ้าเจอให้รีบคว้าไว้ เปรียบเหมือนเจอผู้หญิงหน้าตาดี มีฐานะ นิสัยดี ให้รีบขอแต่งงานโดยด่วน

รูปร่างหน้าตานั้นดูยังไง ของมือสองต้องสังเกตถี่ถ้าวนเป็นพิเศษ มีรอยแตก รอยหัก รอยบิ่น มั้ย คอตรงดีหรือเปล่า แน่นหนามั้ย เคยผ่านการซ่อม หรือการตกแต่งมาหรือเปล่า ทูนเนอร์ยังใช้การได้ดีมั้ย บริดจ์ยกหรือเปล่า ไม่ใช่เล่น ๆ อยู่มันกระโดดขึ้นมาดีดหน้า อันนี้ก็ไม่ไหว

เวลาซื้อให้มองในที่สว่าง ๆ พลิกซ้ายขวา ค่อย ๆ ดูหมุนไปทีละองศา เพราะรอยบางรอยอาจจะไม่เห็น ถ้าไม่พลิกไม่หงายดี ๆ อันนี้ก็ขึ้นกับประสบการณ์อีกเช่นกัน ยิ่งผ่านมือมามาก ยิ่งดูเป็น อูคูเลเล่บางตัว สวยแต่รูป จูบไม่หอม มี ฝังมุก เปลือกหอยเต็มทั่วตัว แต่เสียงออกมาไม่ได้เรื่อง ก็ต้องอยู่ที่ว่าจะซื้อมาฟัง มาเล่น หรือจะซื้อมาตั้งโชว์ หรือจะซื้อมาขายต่อ เหตุผลต่างกันไป

ข้อสาม มันวินเทจหรือเปล่า vintage วินเทจคือเก่า โดยทั่วไปตัวเก่า ๆ จะเสียงดี ในกรณีที่เป็นไม้แท้ทั้งตัว ไม่ใช่ไม้อัด เสียงจะดีขึ้นเมื่อผ่านไปตามกาลเวลา เก่านี่ ต้องเก่ากี่ปี ถึงจะเรียกว่าวินเทจ ถ้าแค่สิบปี ยังไม่จัดว่าวินเทจ อย่างนั้นเรียกของมือสองธรรมดา วินเทจควรจะสามสิบปี สี่สิบปีขึ้นไป ควรจะต้องเป็นรุ่นที่เค้าไม่ผลิตแล้ว ไม่สามารถพกเงิน แล้วถือไปให้โรงงานเค้าทำขึ้นมาใหม่ได้ มีเหลืออยู่แค่ไหนในท้องตลาด ก็คือเท่านั้น หมดแล้่วก็หมดกันไป แต่ถ้าเก่ามากเช่นเก่าเกือบร้อยปี บางทีก็ไม่เหมาะที่จะซื้อมาเล่น ควรจะซื้อมาเก็บเพราะโอกาสที่จะทำพังแตกหักมีสูง ของทุกอย่างย่อมต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ควรจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาดีกว่า

ข้อสุดท้าย มันหายาก หรือ rare หรือเปล่า เพราะเก่าอย่างเดียวไม่พอ ควรจะต้องเก่า และหายากด้วย ถึงจะมีราคา เปรียบไปก็เหมือนกับรถยนต์ รถเก่า ๆ หาไม่ยากมีคนขายกันเยอะแยะ แต่รถที่ผลิตออกมาเพียงแค่ 20 คัน แล้วเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแค่ไม่เกิน 3 คัน อย่างนี้หายาก ถึงแล่นไม่ได้แต่ซื้อมาซ่อมก็อาจจะยังขายได้ราคา

อูคูเลเล่นั้นก็เหมือนกัน บางยี่ห้อจะเปลี่ยนสเป็กไปเรื่อย ๆ บางทีเปลี่ยนรูปแบบของหัว บางทีเปลี่ยนฉลาก เปลี่ยนจำนวนเฟรท ถ้าอะไรก็ตามที่มันไม่เหมือนตัวที่เหลือ อย่างนี้หายาก หรือถ้าบุคคลที่มีชื่อเสียงเคยเป็นเจ้าของมาก่อน แล้วพิสูจน์ได้ว่าเป็นของเค้าจริง มีประวัติมีที่มานี่ก็หายาก ราคาสูง หรือถ้าเป็นรุ่น custom หรือรุ่นสั่งทำพิเศษ ไม่เหมือนใคร มีแค่หนึ่งเดียวในโลก จัดอยู่ในประเภทหายากเช่นกัน

ถ้าสามารถหาได้ครบในสี่ข้อนี้ "เสียงดี รูปร่างดี เก่า หายาก" จะสุดยอดมาก แต่แน่นอน ราคาย่อมสูงเป็นเงาตามตัว ถ้าเจอในราคาถูก รีบคว้าไว้เลย สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอแนะนำคือ ให้ซื้ออูคูเลเล่ที่ดีที่สุด ที่เราสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน อย่าประหยัดจนเกินไป เพราะจะได้ตัวที่ไม่ดี เสียงไม่เพราะ พวกนี้เปรียบเสมือนอูคูเลเล่สำหรับนักท่องเที่ยว มีขายเกลื่อนตามห้างสรรพสินค้า (ที่ฮาวาย ใน Walmart มีขายเพียบ) อย่างน้อยควรจะเลือกตัวที่เค้าสร้างขึ้นมาเพื่อให้เล่นได้จริง ๆ

เค้าบอกว่า อูคูเลเล่ทุกตัวนั้น มีจิตวิญญาณของผู้สร้างอยู่ ถ้าเล่นแล้วมันสื่อถึงกันกับคุณ เล่นแล้วมันจับถนัดมือ สตรัมแล้วมันทำให้คุณยิ้มออกมาได้ ได้มองได้ถือก็มีความสุข ทำให้อยากเล่นทุกวัน อยากจะฝึกให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ตัวนั้นแหละครับ เป็นตัวที่คุณต้องการ

ขอให้โชคดีกับการตามหาอูคูเลเล่ของคุณครับ คุณอาจจะมีมันอยู่ในมือแล้ว แต่ไม่รู้ตัวก็ได้ :)

Monday, January 18, 2010

Uke Minutes 12 – Free Strokes & Rest Strokes ฟรีสโตรค และเรสท์สโตรค



อัลดรีนโชว์เทคนิคการดีดสาย 2 แบบ

1. ฟรีสโตรค (ดีดโดยไม่พักนิ้วไว้บนสาย)
2. เรสท์สโตรค (ดีดโดยนิ้วพักไว้บนสาย)

ฝึกโดยใช้มือขวาอย่างเดียว มือซ้ายกำคออูคูเลเล่ไว้ไม่ต้องสนใจคอร์ด

ฟรีสโตรค - เริ่มโดยใช้นิ้วชี้ดีดสายล่างขึ้นมา แล้วปล่อยให้นิ้วลอยไว้ แล้วต่อด้วยใช้นิ้วกลางดีดสายล่างขึ้นมา แล้วก็ปล่อยให้นิ้วลอยค้างไว้ ทำจากช้าไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ

เรสท์สโตรค - ทำคล้าย ๆ กับฟรีสโตรค แต่คราวนี้ให้เอานิ้วไปพักไว้บนสายที่อยู่ถัดขึ้นไปด้านบน (สาย E) ทำสลับระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลางเหมือนฟรีสโตรค ต่างกันแค่พักนิ้วไว้บนสาย

อัลดรีนอธิบายว่า ฟรีสโตรคเราใช้ในกรณีที่เกาสายแบบอินทูเอาท์ หรือเกาสายแบบหลาย ๆ สาย ส่วนเรสท์สโตรคนั้นใช้ในกรณีที่เราเกาสายเพียงสายเดียว

Uke Minutes 11 – In-to-Out Picking เทคนิคเกาสาย ในไปนอก



อัลดรีนสาธิตการเกาสาย โดยใช้เทคนิคเกาสายจากด้านใน ไปด้านนอก

ใช้สองนิ้วในการเกา โดยนิ้วโป้งใช้กับสองสายบน นิ้วชี้ใช้กับสองสายล่าง โดยให้เล่นตามลำดับดังนี้

นิ้วโป้งดีดสาย C
นิ้วชี้ดีดสาย E
นิ้วโป้งดีดสาย G
นิ้วชี้ดีดสาย A

สรุปง่าย ๆ ว่าดีดจากด้านไป ไปด้านนอก (C E G A) เป็นที่มาของชื่อเทคนิค อินทูเอ้าท์
เราอาจจะใช้สามนิ้วก็ได้ในการเล่นเทคนิคนี้ โดยนิ้วโป้งยังคงดีดสองสายบน นิ้วชี้ดีดสาย E และนิ้วกลางที่เพิ่มขึ้นมาใช้ดีดสาย A

อัลดรีนจับคอร์ด C F G C และใช้เทคนิคนี้เกาสายให้ฟังเป็นตัวอย่างในตอนท้าย