******************************

ประกาศ!!!!!! ย้ายบ้านใหม่แล้วนะครับ
ขอเชิญไปเยี่ยมชมได้ที่

Wednesday, April 28, 2010

เปิดตัวบ้านอูคูเลเล่ครับ BaanUkulele.com

อโลฮ่า สวัสดีครับ

ก่อนอื่นต้องขอโทษทีครับที่หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ ๆ พอดียุ่ง ๆ อยู่กับงานและก็เลี้ยงเบบี้เลยไม่ค่อยมีเวลามาอัพบล็อค ต้องขอโทษจริง ๆ ครับ

มีข่าวใหม่มาประกาศครับ ตอนนี้ผมกับคุณเบิร์ด ซึ่งเป็นเพื่อนที่รักอูคูเลเล่เหมือนกัน รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เรามาร่วมลงขันทำเว็บอูคูเลเล่ขึ้นมา ชื่อว่า บ้านอูคูเลเล่ดอตคอม BaanUkulele.com (คลิกที่ชื่อเพื่อเข้าไปที่เว็บได้เลยครับ) เราเองก็ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะสามารถเปิดเป็นร้านค้าใหญ่โต ตอนนี้ก็เลยเป็นเพียงร้านเล็ก ๆ บนโลกออนไลน์ ก็จะมีทั้งอูคูเลเล่มือหนึ่ง และมือสอง จำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เพื่อน ๆ ที่หลงใหลในเสียงอูคูเลเล่เหมือนกันได้ลองเลือกชม

ถ้าเพื่อน ๆ สนใจตัวไหนก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ที่
บ้านอูคูเลเล่ ตั้งอยู่ตรงชั้นฟอร์จูนใต้ดิน ห้องB012 ตรงข้ามลิฟท์แก้ว1 รัชดา พระราม9

โทร 0819394924

ตัวแรกที่เราตัดสินใจเอาขึ้นเว็บคือยี่ห้อ Melokia (เมโลเคีย) ผลิตที่จีน มาประกอบที่ฮาวาย และก็ส่งตรงไปที่เมืองไทย เป็นยี่ห้อที่ผมชอบมากเพราะเสียงดี ไม้แท้ทั้งตัว รูปร่างสวยงาม และที่สำคัญคุ้มราคาสุด ๆ ก็ขอฝากให้เพื่อน ๆ ช่วยกันอุดหนุนนะครับ (ผมจะได้มีค่านม ค่าผ้าอ้อม ให้น้องโคอา แฮ่ ๆ )

ปัจจุบันก็มีอีกมากมายหลายยี่ห้อ ทั้ง Kamoa, KoAloha, Kamaka, Kanile'a, Big Island ทุกแบบทุกสไตล์สำหรับเพื่อน ๆ ทุกคนครับ

ลองเข้าไปชมตัวอย่างรีวิวได้ที่นี่ครับ

เมโลเคีย คอนเสิร์ต
http://www.youtube.com/watch?v=9Y-5TGwohcQ

เมโลเคีย เทนเนอร์
http://www.youtube.com/watch?v=Bj_wHoMeqzg

ถ้าเพื่อนคนไหนมีข้อสงสัยหรือคำถามอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับอูคูเลเล่ เมลมาได้นะครับที่ MaysaHawaii@gmail.com หรือ BaanUkulele@gmail.com จะรีบตอบทันทีครับ

แฮปปี้สตรัมมิ่งครับ

Ukulele Sound Test วิธีทดสอบเสียงของอูคูเลเล่

วิธีทดสอบเสียงของอูคูเลเล่
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ดินสอที่มียางลบอยู่ด้านปลาย

Monday, February 22, 2010

วิธี "วาง" อูคูเลเล่

พอดีวันก่อนมีคนถามมาว่าเก็บรักษาอูคูเลเล่ยังไง ก็เลยทำให้นึกขึ้นได้ถึงวิธีวางอูคูเลเล่ด้วย ขออนุญาตนำมาแบ่งปันกันนะครับ

วิธีวางที่ปลอดภัยที่สุด คือวางคว่ำหน้า ให้ด้านที่เป็นสายแนบไปกับพื้น
เหตุผลคือหากเผลอพลั้งไปเหยียบหรือมีอะไรไปหล่นใส่ คอจะได้ไม่หัก (คออูคูเลเล่นะครับ ไม่ใช้คอคนที่มาเหยียบ คืออยากจะไปบีบคอเค้าอะไรแบบนั้น) เพราะถ้าคอแนบไปกับพื้น มันจะไม่กระดกใช่มั้ยครับ ถ้าวางหงายมันจะมีช่องว่างระหว่างคอกับพื้น เหยียบไปตรงกลาง คอหักป๊อกได้

ถ้าจะวางพิงกับผนัง หรือที่นั่ง ก็ให้วางพิงโดยให้คอแนบไปกับส่วนที่จะพิง วิธีนี้นอกจากจะทำให้คอปลอดภัยไม่หักแล้ว ยังช่วยให้สายอยู่ในทูน อูคูเลเล่บางตัวมีทูนเนอร์ที่อ่อนไหวมาก ถ้าไปวางหงาย ทูนเนอร์ที่เป็นตัวหมุนด้านหลัง (ในกรณีที่เป็น Friction Tuners) อาจจะไปสัมผัสกับพื้นหรือผนังก็ทำให้สายเพี้ยนได้

ประสบการณ์ตรงของผม การวางแบบนี้ทำให้อูคูเลเล่ของผมรอดตายมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งวางพิงไว้กับเก้าอี้ แล้วก็ลืมไป พอตกกลางคืน ถอดแว่นมองอะไรไม่ค่อยเห็น เดินไปนั่งเก้าอี้ซะงั้น นั่งลงไปเสียงดัง "ปั๊ก" ใจหล่นไปที่ตาตุ่ม หยิบขึ้นมาตรวจดู รอดตายปาฎิหารย์ เข้าใจว่าเนื่องจากวางเอียงลู่ไปกับผนักพิง พอนั่งลงไปทับที่ด้านหลัง มันก็ดันให้อูคูเลเล่ดีดลู่ขึ้นไปกับพนักพิง ถ้าวางหงายมันอาจจะดีดไม่ขึ้นเพราะน้ำหนักของตัวมันทำให้ศูนย์ถ่วงอยู่ต่ำ คงได้มีการหักคาก้น ดับอนาถทั้งอูคูเลเล่ และคน (ถูกไม้เสียบก้นคงดูไม่สวยเท่าไหร่)

ครั้งที่สอง คุณภรรยาเดินป้อนนมลูก คุณลูกดีดดิ้นเหวี่ยงไปมา คุณภรรยาทำขวดนมหลุดมือ ขวดนมน้ำหนัก 6 Oz. ถูกเหวี่ยงตกจากความสูงประมาณ 4 ฟุต ร่อนลงไปจอดบนหลังของอูคูเลเล่ที่วางอยู่บนพื้นอย่างสวยงาม คำว่า "ขวดนม" กับ "อูคูเลเล่" สองคำนี้ไม่ควรจะมาอยู่ในประโยคเดียวกันได้ แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว หล่นลงไปจอดเสียงดัง "พลั่ก" แล้วกระเด้งดึ๋ง ๆ ๆ ๆ ไปนอนหงายกระจายบนพื้น
ปาฎิหารย์เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่เป็นอะไรเลย หนังเหนียวจริง ๆ

เข้าใจว่าการกระจายแรงกระแทกดีมาก ถ่ายแรงจากหลังทั้งแผ่นลงสู่พรม ถ้าวางหงายการกระจายน้ำหนักคงไม่ดีเท่า แถมมีรู soundhole คอยดักบวกกับสายทั้งสี่ น้ำนมคงได้ไปท่วมอยู่ในอูคูเลเล่เป็นแน่แท้

รอดตายมาสองครั้ง ก็เลยเก็บใส่เคสดีกว่า เสียเวลานิดหน่อย แต่ปลอดภัยกว่าเยอะ เฮ้อ​.... เกือบไป หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

Uke Minute 15 – 5-Finger Roll สตรัมห้านิ้ว

อัลดรีนสอนวิธี สตรัมห้านิ้ว หรือการโรลนิ้วทั้งห้า

ใช้มือซ้ายกำคออูคูเลเล่ไว้ จะได้ฝึกมือขวาอย่างเดียว

ขั้นแรก สตรัมขึ้นด้วยนิ้วโป้ง
ขั้นสอง สตรัมลงด้วยนิ้วก้อย
ขั้นสาม สตรัมลงด้วยนิ้วนาง
ขั้นสี่ สตรัมลงด้วยนิ้วกลาง
ขั้นสุดท้าย สตร้มลงด้วยนิ้วชี้

ฝึกให้เหมือนเราพยายามปัดนิ้วออกมาทั้งสี่นิิ้ว คลี่ออกให้เหมือนพัด นิ้วก้อยจะดีดออกมาในขณะเดียวกับที่นิ้วโป้งขึ้นไปจนสุด

เราก็สามารถนำไปใช้ โดยเปลี่ยนรูปแบบจาก
ลง​ .... ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง ....​ ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง

ให้เป็น
โรล​..... ลง ขึ้น ลง ขึ้น โรล ..... ลง ขึ้น ลง ขึ้น โรล


Uke Minutes 14 – Minor Scales & Chords ไมเนอร์สเกล และไมเนอร์คอร์ด

อัลดรีนสอน ไมเนอร์สเกล และไมเนอร์คอร์ด (เป็นตอนต่อจาก เมเจอร์สเกล และเมเจอร์คอร์ด)
ไมเนอร์สเกล ประกอบด้วย

"เต็ม ครึ่ง เต็ม เต็ม ครึ่ง เต็ม เต็ม"

(เต็ม คือ 2 เฟรท ถ้าครึ่ง ก็คือ 1 เฟรท)

อัลดรีนสาธิตการหา C ไมเนอร์ โดยเริ่มดีดจากโน้ต C ก่อน (ดีดสายเปล่า สายที่สาม) แล้วก็ใช้สูตรด้านบน เลื่อนนิ้วลงไปเรื่อย ๆ 2 1 2 2 1 2 2 เฟรท ตามลำดับ

ต่อด้วยการหา ไมเนอร์คอร์ด ให้เลือกสเกล "1 3 5" จากไมเนอร์สเกล ก็จะเป็นไมเนอร์คอร์ด
ค่อย ๆ ไล่นิ้วลงมาเรื่อย ๆ ตามสูตรด้านบน
1 ก็คือ โน้ตตัว C หรือ สาย C เปล่า
3 ก็คือ โน้ต Eb
5 ก็คือ โน้ต G

เราก็จะได้ไมเนอร์คอร์ดของ C หรือที่เรียกว่า C ไมเนอร์ ที่จะต้องประกอบด้วยโน้ตดังต่อไปนี้
C + Eb + G

โน้ตตัว C นั้นเราสามารถใช้สายบนสุดเฟรทที่ห้า แทนได้ เพราะเป็น C เหมือนกัน
โน้ตตัว Eb นั้น ใช้สายที่สาม เฟรทที่สาม
โน้ตตัว G ใช้สายที่สอง เฟรทที่สาม
ทีนี้ก็จะเหลือสายล่างสุด ก็ให้ซ้ำโน้ตตัว C อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือสายล่างสุด เฟรทที่สาม
รวมทุกอย่างก็จะได้ออกมาเป็นคอร์ด C ไมเนอร์ (หรือที่มักจะเขียนกันว่า Cm)

เวลาจับ ก็ใช้นิ้วชี้บาร์เฟรทที่สามทั้งแถว (บาร์ คือใช้ทั้งนิ้วพาดยาวไปเลยทีเดียว) แล้วก็ใช้นิ้วนางกดสายบนสุดเฟรทที่ห้า

Uke Minutes 13 - Tremolo สามเทคนิค เทรมโมโล

อัลดรีนสาธิตเทคนิค เทรมโมโล พิกกิ้ง มีสามวิธี
วิธีที่หนึ่ง เอานิ้วโป้งไขว้กับนิ้วชี้ให้มีลักษณะเหมือนตัวเอ็กซ์ (X) สามนิ้วที่เหลือวางบนอูคูเลเล่เป็นตัวช่วยหนุน  เริ่มดีดจากช้า ๆ ข้ึ้น ลง ขึ้น ลง แล้วก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ

วิธีที่สอง นิ้วโป้งเทรมโมโล ใช้นิ้วโป้งอย่างเดียว สี่นิ้วที่เหลืออุ้มอูคูเลเล่ไว้ เริ่มดีดจากช้า ๆ ข้ึ้น ลง ขึ้น ลง แล้วก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ
หรือจะใช้นิ้วกลางวางบนตัวอูคูเลเล่ แล้วบิดข้อมือก็ได้

วิธีที่สาม ใช้นิ้วโป้งวางบนสาย ให้เป็นจุดหมุน แล้วดีดนิ้วชี้ ขึ้นลงขึ้นลง อาจจะเพิ่มนิ้วกลางเข้าไป โดยใช้ดีดเพิ่มจังหวะเข้าไปในขณะที่นิ้วชี้ก็ดีดเทรมโมโล

วิธีที่สามจะใช้ได้ผลมากที่สุด ถ้าเราเล่นเทรมโมโล 2 สายในขณะเดียวกัน อัลดรีนสาธิตให้ดูโดยวางนิ้วโป้งไว้บนสาย C (สายที่สามนับจากด้านล่าง) แล้วใช้นิ้วชี้ทำเทรมโมโล ในขณะเดียวกัน นิ้วกลางก็ดีดสายเพิ่มจังหวะเข้าไป


Thursday, January 28, 2010

สี่ข้อสำคัญในการเลือกซื้ออูคูเลเล่มือสอง

สี่ข้อสำคัญในการเลือกซื้ออูคูเลเล่มือสอง อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่ละท่านอาจจะมีความเห็นแตกต่างกันไป

ข้อแรก เรื่องเสียง เสียงต้องดีก่อนครับ ผมซื้อมาเล่น ไม่ได้ซื้อมาตั้งโชว์ไว้เฉย ๆ เรื่องเสียงเลยมีความสำคัญ เวลาดีด เวลาสตรัม จะรู้ได้ทันทีครับว่าเสียงดีไม่ดี ต้องอาศัยประสบการณ์ ยิ่งผ่านมือมาหลายตัว จะรู้ได้เอง เหมือนเรากินก๋วยเตี๋ยวมาหลายเจ้า เจ้าไหนอร่อยไม่อร่อย เราก็จะรู้ทันที

แล้วคำว่าเสียงที่ดีนั้น มันเป็นยังไง เสียงที่ดีในความคิดผม คือเสียงที่ออกมาแล้วได้สมดุล ไม่แหลม ไม่ทุ้มจนเกินไป ทั้งสี่สายเวลาสั่นแล้วเหมือนเป็นเพื่อนกันไม่มีใครแซงหน้าใคร ออกมากลมกล่อม บางทีฝรั่งใช้คำว่า round คือออกมากลม ๆ ฟังแล้วรื่น ๆ ไม่ขัดหู

เสียงดัง กับเสียงดี สองเสียงนี้ไม่เหมือนกันนะครับ เสียงดังคือดังเหมือนคนตะโกนเสียง เสียงดีเหมือนนักร้อง เวลาร้องไม่ต้องเกร็งคอจนปูด แต่ฟังแล้วไพเราะเสนาะหู

ปัจจัยที่มีผลต่อเสียงของอูคูเลเล่มีเยอะมาก ไม่มีอูคูเลเล่สองตัวที่เสียงเหมือนกัน เหมือนลายนิ้วมือคนเราครับ ไม้แต่ละชิ้นก็มีลายไม้แตกต่างกัน คุณสมบัติในการสะท้อนเสียงก็ต่างกัน ความหนาของไม้ที่ใช้ทำ รูปทรงของอูคูเลเล่ โครงสร้างภายใน ล้วนมีผลต่อเสียง เปลี่ยนสาย เสียงก็เปลี่ยน เปลี่ยนคนเล่น เสียงก็เปลี่ยน เล่นในอากาศหนาว ได้อีกเสียง เล่นในวันร้อน ได้ออกมาอีกเสียง

ข้อสอง รูปร่างหน้าตา ข้อนี้อาจจะสำคัญเป็นอันดับหนึ่งสำหรับบางท่าน แต่สำหรับนักดนตรีแล้ว รูปร่างหน้าตาไม่สำคัญไปกว่าเสียงแน่นอน แต่ถ้าหาที่เสียงดีและรูปร่างหน้าตาดีด้วย เจ๋งเลย ถ้าเจอให้รีบคว้าไว้ เปรียบเหมือนเจอผู้หญิงหน้าตาดี มีฐานะ นิสัยดี ให้รีบขอแต่งงานโดยด่วน

รูปร่างหน้าตานั้นดูยังไง ของมือสองต้องสังเกตถี่ถ้าวนเป็นพิเศษ มีรอยแตก รอยหัก รอยบิ่น มั้ย คอตรงดีหรือเปล่า แน่นหนามั้ย เคยผ่านการซ่อม หรือการตกแต่งมาหรือเปล่า ทูนเนอร์ยังใช้การได้ดีมั้ย บริดจ์ยกหรือเปล่า ไม่ใช่เล่น ๆ อยู่มันกระโดดขึ้นมาดีดหน้า อันนี้ก็ไม่ไหว

เวลาซื้อให้มองในที่สว่าง ๆ พลิกซ้ายขวา ค่อย ๆ ดูหมุนไปทีละองศา เพราะรอยบางรอยอาจจะไม่เห็น ถ้าไม่พลิกไม่หงายดี ๆ อันนี้ก็ขึ้นกับประสบการณ์อีกเช่นกัน ยิ่งผ่านมือมามาก ยิ่งดูเป็น อูคูเลเล่บางตัว สวยแต่รูป จูบไม่หอม มี ฝังมุก เปลือกหอยเต็มทั่วตัว แต่เสียงออกมาไม่ได้เรื่อง ก็ต้องอยู่ที่ว่าจะซื้อมาฟัง มาเล่น หรือจะซื้อมาตั้งโชว์ หรือจะซื้อมาขายต่อ เหตุผลต่างกันไป

ข้อสาม มันวินเทจหรือเปล่า vintage วินเทจคือเก่า โดยทั่วไปตัวเก่า ๆ จะเสียงดี ในกรณีที่เป็นไม้แท้ทั้งตัว ไม่ใช่ไม้อัด เสียงจะดีขึ้นเมื่อผ่านไปตามกาลเวลา เก่านี่ ต้องเก่ากี่ปี ถึงจะเรียกว่าวินเทจ ถ้าแค่สิบปี ยังไม่จัดว่าวินเทจ อย่างนั้นเรียกของมือสองธรรมดา วินเทจควรจะสามสิบปี สี่สิบปีขึ้นไป ควรจะต้องเป็นรุ่นที่เค้าไม่ผลิตแล้ว ไม่สามารถพกเงิน แล้วถือไปให้โรงงานเค้าทำขึ้นมาใหม่ได้ มีเหลืออยู่แค่ไหนในท้องตลาด ก็คือเท่านั้น หมดแล้่วก็หมดกันไป แต่ถ้าเก่ามากเช่นเก่าเกือบร้อยปี บางทีก็ไม่เหมาะที่จะซื้อมาเล่น ควรจะซื้อมาเก็บเพราะโอกาสที่จะทำพังแตกหักมีสูง ของทุกอย่างย่อมต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ควรจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาดีกว่า

ข้อสุดท้าย มันหายาก หรือ rare หรือเปล่า เพราะเก่าอย่างเดียวไม่พอ ควรจะต้องเก่า และหายากด้วย ถึงจะมีราคา เปรียบไปก็เหมือนกับรถยนต์ รถเก่า ๆ หาไม่ยากมีคนขายกันเยอะแยะ แต่รถที่ผลิตออกมาเพียงแค่ 20 คัน แล้วเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแค่ไม่เกิน 3 คัน อย่างนี้หายาก ถึงแล่นไม่ได้แต่ซื้อมาซ่อมก็อาจจะยังขายได้ราคา

อูคูเลเล่นั้นก็เหมือนกัน บางยี่ห้อจะเปลี่ยนสเป็กไปเรื่อย ๆ บางทีเปลี่ยนรูปแบบของหัว บางทีเปลี่ยนฉลาก เปลี่ยนจำนวนเฟรท ถ้าอะไรก็ตามที่มันไม่เหมือนตัวที่เหลือ อย่างนี้หายาก หรือถ้าบุคคลที่มีชื่อเสียงเคยเป็นเจ้าของมาก่อน แล้วพิสูจน์ได้ว่าเป็นของเค้าจริง มีประวัติมีที่มานี่ก็หายาก ราคาสูง หรือถ้าเป็นรุ่น custom หรือรุ่นสั่งทำพิเศษ ไม่เหมือนใคร มีแค่หนึ่งเดียวในโลก จัดอยู่ในประเภทหายากเช่นกัน

ถ้าสามารถหาได้ครบในสี่ข้อนี้ "เสียงดี รูปร่างดี เก่า หายาก" จะสุดยอดมาก แต่แน่นอน ราคาย่อมสูงเป็นเงาตามตัว ถ้าเจอในราคาถูก รีบคว้าไว้เลย สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอแนะนำคือ ให้ซื้ออูคูเลเล่ที่ดีที่สุด ที่เราสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน อย่าประหยัดจนเกินไป เพราะจะได้ตัวที่ไม่ดี เสียงไม่เพราะ พวกนี้เปรียบเสมือนอูคูเลเล่สำหรับนักท่องเที่ยว มีขายเกลื่อนตามห้างสรรพสินค้า (ที่ฮาวาย ใน Walmart มีขายเพียบ) อย่างน้อยควรจะเลือกตัวที่เค้าสร้างขึ้นมาเพื่อให้เล่นได้จริง ๆ

เค้าบอกว่า อูคูเลเล่ทุกตัวนั้น มีจิตวิญญาณของผู้สร้างอยู่ ถ้าเล่นแล้วมันสื่อถึงกันกับคุณ เล่นแล้วมันจับถนัดมือ สตรัมแล้วมันทำให้คุณยิ้มออกมาได้ ได้มองได้ถือก็มีความสุข ทำให้อยากเล่นทุกวัน อยากจะฝึกให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ตัวนั้นแหละครับ เป็นตัวที่คุณต้องการ

ขอให้โชคดีกับการตามหาอูคูเลเล่ของคุณครับ คุณอาจจะมีมันอยู่ในมือแล้ว แต่ไม่รู้ตัวก็ได้ :)