******************************

ประกาศ!!!!!! ย้ายบ้านใหม่แล้วนะครับ
ขอเชิญไปเยี่ยมชมได้ที่

Monday, February 22, 2010

วิธี "วาง" อูคูเลเล่

พอดีวันก่อนมีคนถามมาว่าเก็บรักษาอูคูเลเล่ยังไง ก็เลยทำให้นึกขึ้นได้ถึงวิธีวางอูคูเลเล่ด้วย ขออนุญาตนำมาแบ่งปันกันนะครับ

วิธีวางที่ปลอดภัยที่สุด คือวางคว่ำหน้า ให้ด้านที่เป็นสายแนบไปกับพื้น
เหตุผลคือหากเผลอพลั้งไปเหยียบหรือมีอะไรไปหล่นใส่ คอจะได้ไม่หัก (คออูคูเลเล่นะครับ ไม่ใช้คอคนที่มาเหยียบ คืออยากจะไปบีบคอเค้าอะไรแบบนั้น) เพราะถ้าคอแนบไปกับพื้น มันจะไม่กระดกใช่มั้ยครับ ถ้าวางหงายมันจะมีช่องว่างระหว่างคอกับพื้น เหยียบไปตรงกลาง คอหักป๊อกได้

ถ้าจะวางพิงกับผนัง หรือที่นั่ง ก็ให้วางพิงโดยให้คอแนบไปกับส่วนที่จะพิง วิธีนี้นอกจากจะทำให้คอปลอดภัยไม่หักแล้ว ยังช่วยให้สายอยู่ในทูน อูคูเลเล่บางตัวมีทูนเนอร์ที่อ่อนไหวมาก ถ้าไปวางหงาย ทูนเนอร์ที่เป็นตัวหมุนด้านหลัง (ในกรณีที่เป็น Friction Tuners) อาจจะไปสัมผัสกับพื้นหรือผนังก็ทำให้สายเพี้ยนได้

ประสบการณ์ตรงของผม การวางแบบนี้ทำให้อูคูเลเล่ของผมรอดตายมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งวางพิงไว้กับเก้าอี้ แล้วก็ลืมไป พอตกกลางคืน ถอดแว่นมองอะไรไม่ค่อยเห็น เดินไปนั่งเก้าอี้ซะงั้น นั่งลงไปเสียงดัง "ปั๊ก" ใจหล่นไปที่ตาตุ่ม หยิบขึ้นมาตรวจดู รอดตายปาฎิหารย์ เข้าใจว่าเนื่องจากวางเอียงลู่ไปกับผนักพิง พอนั่งลงไปทับที่ด้านหลัง มันก็ดันให้อูคูเลเล่ดีดลู่ขึ้นไปกับพนักพิง ถ้าวางหงายมันอาจจะดีดไม่ขึ้นเพราะน้ำหนักของตัวมันทำให้ศูนย์ถ่วงอยู่ต่ำ คงได้มีการหักคาก้น ดับอนาถทั้งอูคูเลเล่ และคน (ถูกไม้เสียบก้นคงดูไม่สวยเท่าไหร่)

ครั้งที่สอง คุณภรรยาเดินป้อนนมลูก คุณลูกดีดดิ้นเหวี่ยงไปมา คุณภรรยาทำขวดนมหลุดมือ ขวดนมน้ำหนัก 6 Oz. ถูกเหวี่ยงตกจากความสูงประมาณ 4 ฟุต ร่อนลงไปจอดบนหลังของอูคูเลเล่ที่วางอยู่บนพื้นอย่างสวยงาม คำว่า "ขวดนม" กับ "อูคูเลเล่" สองคำนี้ไม่ควรจะมาอยู่ในประโยคเดียวกันได้ แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว หล่นลงไปจอดเสียงดัง "พลั่ก" แล้วกระเด้งดึ๋ง ๆ ๆ ๆ ไปนอนหงายกระจายบนพื้น
ปาฎิหารย์เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่เป็นอะไรเลย หนังเหนียวจริง ๆ

เข้าใจว่าการกระจายแรงกระแทกดีมาก ถ่ายแรงจากหลังทั้งแผ่นลงสู่พรม ถ้าวางหงายการกระจายน้ำหนักคงไม่ดีเท่า แถมมีรู soundhole คอยดักบวกกับสายทั้งสี่ น้ำนมคงได้ไปท่วมอยู่ในอูคูเลเล่เป็นแน่แท้

รอดตายมาสองครั้ง ก็เลยเก็บใส่เคสดีกว่า เสียเวลานิดหน่อย แต่ปลอดภัยกว่าเยอะ เฮ้อ​.... เกือบไป หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

Uke Minute 15 – 5-Finger Roll สตรัมห้านิ้ว

อัลดรีนสอนวิธี สตรัมห้านิ้ว หรือการโรลนิ้วทั้งห้า

ใช้มือซ้ายกำคออูคูเลเล่ไว้ จะได้ฝึกมือขวาอย่างเดียว

ขั้นแรก สตรัมขึ้นด้วยนิ้วโป้ง
ขั้นสอง สตรัมลงด้วยนิ้วก้อย
ขั้นสาม สตรัมลงด้วยนิ้วนาง
ขั้นสี่ สตรัมลงด้วยนิ้วกลาง
ขั้นสุดท้าย สตร้มลงด้วยนิ้วชี้

ฝึกให้เหมือนเราพยายามปัดนิ้วออกมาทั้งสี่นิิ้ว คลี่ออกให้เหมือนพัด นิ้วก้อยจะดีดออกมาในขณะเดียวกับที่นิ้วโป้งขึ้นไปจนสุด

เราก็สามารถนำไปใช้ โดยเปลี่ยนรูปแบบจาก
ลง​ .... ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง ....​ ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง

ให้เป็น
โรล​..... ลง ขึ้น ลง ขึ้น โรล ..... ลง ขึ้น ลง ขึ้น โรล


Uke Minutes 14 – Minor Scales & Chords ไมเนอร์สเกล และไมเนอร์คอร์ด

อัลดรีนสอน ไมเนอร์สเกล และไมเนอร์คอร์ด (เป็นตอนต่อจาก เมเจอร์สเกล และเมเจอร์คอร์ด)
ไมเนอร์สเกล ประกอบด้วย

"เต็ม ครึ่ง เต็ม เต็ม ครึ่ง เต็ม เต็ม"

(เต็ม คือ 2 เฟรท ถ้าครึ่ง ก็คือ 1 เฟรท)

อัลดรีนสาธิตการหา C ไมเนอร์ โดยเริ่มดีดจากโน้ต C ก่อน (ดีดสายเปล่า สายที่สาม) แล้วก็ใช้สูตรด้านบน เลื่อนนิ้วลงไปเรื่อย ๆ 2 1 2 2 1 2 2 เฟรท ตามลำดับ

ต่อด้วยการหา ไมเนอร์คอร์ด ให้เลือกสเกล "1 3 5" จากไมเนอร์สเกล ก็จะเป็นไมเนอร์คอร์ด
ค่อย ๆ ไล่นิ้วลงมาเรื่อย ๆ ตามสูตรด้านบน
1 ก็คือ โน้ตตัว C หรือ สาย C เปล่า
3 ก็คือ โน้ต Eb
5 ก็คือ โน้ต G

เราก็จะได้ไมเนอร์คอร์ดของ C หรือที่เรียกว่า C ไมเนอร์ ที่จะต้องประกอบด้วยโน้ตดังต่อไปนี้
C + Eb + G

โน้ตตัว C นั้นเราสามารถใช้สายบนสุดเฟรทที่ห้า แทนได้ เพราะเป็น C เหมือนกัน
โน้ตตัว Eb นั้น ใช้สายที่สาม เฟรทที่สาม
โน้ตตัว G ใช้สายที่สอง เฟรทที่สาม
ทีนี้ก็จะเหลือสายล่างสุด ก็ให้ซ้ำโน้ตตัว C อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือสายล่างสุด เฟรทที่สาม
รวมทุกอย่างก็จะได้ออกมาเป็นคอร์ด C ไมเนอร์ (หรือที่มักจะเขียนกันว่า Cm)

เวลาจับ ก็ใช้นิ้วชี้บาร์เฟรทที่สามทั้งแถว (บาร์ คือใช้ทั้งนิ้วพาดยาวไปเลยทีเดียว) แล้วก็ใช้นิ้วนางกดสายบนสุดเฟรทที่ห้า

Uke Minutes 13 - Tremolo สามเทคนิค เทรมโมโล

อัลดรีนสาธิตเทคนิค เทรมโมโล พิกกิ้ง มีสามวิธี
วิธีที่หนึ่ง เอานิ้วโป้งไขว้กับนิ้วชี้ให้มีลักษณะเหมือนตัวเอ็กซ์ (X) สามนิ้วที่เหลือวางบนอูคูเลเล่เป็นตัวช่วยหนุน  เริ่มดีดจากช้า ๆ ข้ึ้น ลง ขึ้น ลง แล้วก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ

วิธีที่สอง นิ้วโป้งเทรมโมโล ใช้นิ้วโป้งอย่างเดียว สี่นิ้วที่เหลืออุ้มอูคูเลเล่ไว้ เริ่มดีดจากช้า ๆ ข้ึ้น ลง ขึ้น ลง แล้วก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ
หรือจะใช้นิ้วกลางวางบนตัวอูคูเลเล่ แล้วบิดข้อมือก็ได้

วิธีที่สาม ใช้นิ้วโป้งวางบนสาย ให้เป็นจุดหมุน แล้วดีดนิ้วชี้ ขึ้นลงขึ้นลง อาจจะเพิ่มนิ้วกลางเข้าไป โดยใช้ดีดเพิ่มจังหวะเข้าไปในขณะที่นิ้วชี้ก็ดีดเทรมโมโล

วิธีที่สามจะใช้ได้ผลมากที่สุด ถ้าเราเล่นเทรมโมโล 2 สายในขณะเดียวกัน อัลดรีนสาธิตให้ดูโดยวางนิ้วโป้งไว้บนสาย C (สายที่สามนับจากด้านล่าง) แล้วใช้นิ้วชี้ทำเทรมโมโล ในขณะเดียวกัน นิ้วกลางก็ดีดสายเพิ่มจังหวะเข้าไป