******************************

ประกาศ!!!!!! ย้ายบ้านใหม่แล้วนะครับ
ขอเชิญไปเยี่ยมชมได้ที่

Tuesday, December 22, 2009

วิธีเลือกซื้ออูคูเลเล่



ขอออกตัวก่อนเลยนะครับว่าผมไม่ได้เป็นนักดนตรี มืออาชีพ ก็ยังหัดเล่นอยู่หน่ะครับ พอจะมีอะไรมาแบ่งปัน ช่วยกันได้ก็ช่วยกันครับ

วิธีเลือกซื้อ
1. อู๊คที่ดี ต้องไม่ใช่สวยแค่รูปนะครับ เสียงเป็นส่วนที่สำคัญกว่า (เว้นเสียแต่ว่า จะซื้อมาตั้งโชว์เฉย ๆ) แต่ให้ดีที่สุดคือ เสียงและรูปควรจะดีทั้งคู่ ลวดลายที่ฝังมุก ทำขอบคิ้วไม่ได้มีผลกับเสียง ถ้าจะต้องจ่ายเพิ่มก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย บางยี่ห้อใส่เครื่องประดับเข้าไปเยอะ เสียงทึบและหนักเข้าไปอีก

2. ไม้ที่ใช้ทำมีส่วนสำคัญมาก ไม้แต่ละชนิดจะให้เสียงแตกต่างกันไป ถ้าพอจะมีกำลังทรัพย์ ขอแนะนำให้ซื้อไม้ที่เป็น ไม้แท้ทั้งตัว (solid) จะดีกว่าไม้อัด (composite หรือ plywood) ยกตัวอย่าง ไม้ all solid mahogany ก็จะทำจาก mahogany ทั้งแผ่น ไม่ผสมอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นไม้ composite อาจจะเป็นลักษณะที่่ว่า นำไม้อัดมาทำแล้วใช้ mahogany แผ่นบาง ๆ แปะด้านหน้าเพื่อความสวยงาม

3. ไม้ที่เป็น solid ยิ่งเล่น เสียงจะยิ่งดีขึ้นตามกาลเวลา เก็บให้เก่าอย่างเดียวก็จะไม่ดีเท่าเก็บแล้วเล่น ต้องเล่นให้ไม้มันได้สั่น ได้ดิ้นหน่ะครับ

4. เสียงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผ่านไปประมาณ 1 ปี แล้วน้ำหนักจะเบาลง เพราะไม้จะแห้ง สังเกตอู๊ครุ่นเก่า ๆ จะเบากว่าตัวใหม่ที่เพิ่งออกมาจากโรงงาน โดยส่วนตัวแล้วถ้าซื้อของมือสองแล้วเสียงมันดี ผมว่าดีกว่าซื้อมือหนึ่งแต่เสียงไม่ดี (แล้วก็ไม่แน่ว่าอีกอีกปีเสียงมันจะดีขึ้นมา)

5. สังเกตบริเวณรอยต่อต่าง ๆ ควรจะต้องหนาแน่น จุดที่ควรระวังคือบริเวณ คอ และบริเวณ bridge (ส่วนที่สายด้านล่างลงมาร้อย) ใช้ไปนาน ๆ บางทีคอเบี้ยว คอคด  ส่วนที่เป็น bridge ถ้ากาวไม่หนาแน่น มันอาจจะหลุดออกมาได้ เพราะแรงดึงของสาย (บางยี่ห้อ ยังไม่ทันจะไขให้สายตึงได้ทูน ไขไป bridge ดังแก๊ก ๆ ๆ ๆ แล้ว) ถ้าซื้อของมือสองให้สังเกตุว่า มีรอยกาวหรือรอยซ่อมบริเวณ คอ หรือ bridge หรือเปล่า ไม้ที่ผ่านการซ่อมแซมมักจะมีรอยให้เห็น เช่นรอยเดิมกับรอยใหม่อาจจะไม่ทับกันพอดี หรือมีกาวที่ล้นเกินออกมา อู๊คเก่า ๆ คุณภาพงานดีอย่างของ Martin  หรือ Kamaka  อายุหกเจ็ดสิบปี ไม่เคยมีปัญหา

6. วางอู๊คในแนวระนาบ แล้วเล็งดูว่าไม้มีการคดงอหรือไม่ แนบตาลงไปจนชิดกับส่วนท้ายของอู๊ค แล้วส่องไปที่ส่วนหัว เราควรจะเห็นเฟรทบอร์ดเรียงตัวกันเป็นระเบียบ ถ้าอู๊คคอเบี้ยว จะมองออกว่าเฟร็ดไม่อยู่ในแนวระนาบ อู๊คใหม่ ๆ ไม่ค่อยมีปัญหานี้ (แต่ก็ไม่แน่) ส่วนมากอู๊คเก่า ๆ จะเป็นเนื่องจากเก็บไม่ถูกวิธี

7. ลองขยับ ไข tuners ดูว่าหลวมหรือเปล่า ไขได้คล่องมั้ย ถ้าเป็น friction tuners เราอาจจะต้องไขหมุดโลหะด้านบนสุดก่อน (แล้วมันจะแน่นขึ้น) แต่ก็ไม่ควรไขจนหมุนไปไหนไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับไม้ได้

8. ลูบ ๆ คลำ ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นขอบของเฟทบอร์ด ควรจะถูกตะไบให้เรียบร้อย ไม่ให้มีส่วนแหลมคม คงไม่ดีแน่ถ้าเล่นแล้วเฟรทแทงฉึก เลือดพุ่ง

9. ลูบ ๆ คลำ ๆ (อีกแล้ว) ไปรอบ ๆ เพื่อดูว่าแล็คเกอร์ถูกทาสมำ่เสมอทั่วตัว (เว้นรุ่นผิวด้าน อาจจะดูยากนิดนึง)

10. สังเกตโดยรอบว่ามีรอยแตก รอยหัก รอยบิ่น รอยข่วนใด ๆ หรือไม่  ของมือหนึ่งไม่ควรจะเป็นรอย ของมือสองอาจจะมีรอยบ้าง ถ้าเป็นแค่รอยข่วน (scratch) ที่ผิวแลกเกอร์ไม่ได้กินลึกเข้าไปในเนื้อไม้ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเกิดจากการผ่านการเล่น ผ่านการสตรัม แต่ถ้าเป็นรอยแตกของเนื้อไม้ (crack) ต้องระวังให้ดี เพราะเล่นไปนาน ๆ อาจจะแตกเพิ่มถ้าไม่ซ่อมแซม แต่บางรอยแตกเป็น แบบแตกบาง ๆ (hairline crack) ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ถ้ารอยแตกใหญ่ถึงขนาดที่ส่องอู๊คกับไฟแล้วเห็นทะลุลอดไปได้ ควรจะระวังเป็นพิเศษ  แต่เชื่อหรือไม่ว่าอู๊คเก่า ๆ บางตัว (เห็นมากับตา ฟังมากับหู) มีรูโหว่เบ้อเร่อ แตกบิ่นทั่วร่าง  แต่เสียงโคตรดี

อ้อ..อย่าลืมส่องดูข้างใน sound hole เผื่อเจอแมงมุมทำรังอยู่ ระวังโดนกัด สังเกตดูพวก braces (กระดูกงู  หรือเปล่า) ที่อยู่ตามขอบด้านใน ว่างานเรียบร้อยดี

11. ดมดู (อย่างเพิ่งขำไป) ถ้าซื้อของเก่ามือสอง กลิ่นควรจะเก่า ๆ ถ้ากลิ่นใหม่ให้พึงระวังว่า อาจจะผ่านการซ่อมแซมและทาแลกเกอร์ใหม่ทับ

12. Intonation ควรจะถูกต้อง แต่ละเฟรทควรจะมีโน้ตที่ถูกต้อง ถ้ามีเครื่อง digital tuner ก็ไช้ไล่ไปเลยทีละช่อง เทียบกับตารางโน้ต ที่เฟรท 12 เสียงควรจะกลับมาเป็น G C E A

13. สตรัมเพลงโปรดสักเพลงสองเพลง แล้วลองฟังดู อาจจะให้เพื่อนไปยืนอีกฟากหนึ่งของห้อง แล้วช่วยฟัง tone  และharmonic เสียงควรจะกลมกล่อม ไม่ควรมีโน้ตใดโน้ตหนึ่งกระโดดดึ๋งออกมา โดยไม่ได้รับเชิญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราฟัง เราเล่น แล้วเราชอบ ก็ไม่ต้องไปสนใจใคร

14. เอ๊ะ นี่เริ่มเขียนยาวเกินไป ยังไม่ทันขึ้นวิธีเก็บรักษาเลย ไว้มาต่อคราวหน้าละกัน หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วไว้พบกันใหม่

No comments: